อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก แนะแนวทางประชาชนควรใช้น้ำยาอะไร ฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้บ้าง
จากที่แชร์ข่าวเกี่ยวกับว่า คนอิหร่านเอาเมทิลแอลดอฮอล์มากดื่ม เพื่อหวังจะฆ่าเชื้อโรค COVID 19 ในร่างกาย จนเสียชีวิตกันหลายคนนั้น !! (จริงๆ เขาให้เอามาทาฆ่าเชื้อ ไม่ใช่ดื่มกิน)
ผม เลยคิดว่าน่าจะเอาความรู้จาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาลัยมหิดล มาสรุปให้ฟังบ้างว่า จริงๆ แล้ว มีสารอะไรที่เราสามารถหาซื้อเอาใช้ฆ่าเชื้อไวรัสไกด้บ้าง
- การเลือกใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในกรณีของโรค COVID-19 ทาง Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ของสหรัฐอเมริกา และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ใช้ ethyl alcohol (ethanol) ที่ความเข้มข้นอย่างน้อย 70% โดยปริมาตร (v/v) หรือ sodium hypochlorite เข้มข้น 0.5% ในการทำความสะอาดพื้นผิว
- สารฆ่าเชื้อที่ใช้ตามบ้านเรือนและสามารถฆ่าเชื้อโคโรน่าไวรัสได้ มี 5 ชนิด ได้แก่ benzalkonium chloride, chloroxylenol, ethyl alcohol, isopropyl alcohol, และ sodium hypochlorite ส่วนมากจะจำหน่ายในความเข้มข้นสูง ดังนั้น ก่อนใช้ ผู้บริโภคต้องนำมาเจือจางด้วยน้ำ ให้มีความเข้มข้นไม่น้อยกว่าความเข้มข้นต่ำที่สุดที่สามารถฆ่าเชื้อได้
- ตัวอย่างเช่น ไฮเตอร์ Haiter® และ คลอร็อกซ์ Clorox® มีสารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ที่ฆ่าเชื้อได้ ในรูปของ available Chlorine อยู่ 6% w/w จึงควรเจือจางให้ได้ความเข้มข้นตามที่เหมาะสม เช่น อาจใช้ 1 ส่วนผสมกับน้ำ 11 ส่วน ก็จะได้ความเข้มข้นโดยประมาณ 0.5%
- ส่วนน้ำยาฆ่าเชื้อยี่ห้อ เดทตอล นั้น มีขาย 2 ชนิด คือ Dettol® Hygiene Multi-Use Disinfectant กับ Dettol® Antiseptic Disinfectant ซึ่งมีสารออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน :
- Dettol® Hygiene Multi-Use Disinfectant มีสารออกฤทธิ์เป็น alkyl dimethyl benzoyl ammonium chloride เข้มข้น 2.4%w/w ใช้ฆ่าเขื้อโรคได้ แต่ไม่สามารถใช้กับผิวหนัง
- Dettol® Antiseptic Disinfectant มีสารออกฤทธิ์เป็น chloroxylenol เข้มข้น 4.8% (สังเกตโดยการดูที่ขวดจะมีมงกุฎสีฟ้าบนฉลาก) ซึ่งใช้ได้กับผิวหนัง // ตัวนี้ ถ้าจะใช้ทำความสะอาดพื้นผิว ให้เจือจางในอัตราส่วนน้ำยา 1 ส่วน ผสมน้ำ 39 ส่วน // ถ้าใช้กับผิวหนัง ต้องเจือจางลงให้เหมาะสม เช่น ใช้ล้างบาดแผล ให้เจือจางน้ำยาในอัตราส่วน 1:20 หรือถ้าใช้เพื่ออนามัยของร่างกาย ให้เจือจาง 1:40
- เพื่อความมั่นใจถึงความปลอดภัย ว่าไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง สำหรับน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้กับผิวหนังนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย แนะนำให้ใช้ ethyl alcohol ความเข้มข้นอย่างน้อย 70% ในการทำความสะอาด