นายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ์ อดีตข้าราชการครู ร.ร.สุราษฎร์พิทยา อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เผยว่า ขยะเปลือกทุเรียนเป็นปัญหากำจัดได้ค่อนข้างยาก แต่จากการศึกษาข้อมูลพบว่า เปลือกผลไม้ไม่ว่าจะเป็นส้มโอ ส้ม กล้วย ฝรั่ง และทุเรียน ล้วนมีสารเพคติน (Pectin) ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างเซลล์และยึดเหนี่ยวเซลล์พืชหลายเซลล์ให้เชื่อมติดกัน ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าเพคตินจากต่างประเทศมาใช้ทำเยลลี่ในอุตสาหกรรมอาหารและแคปซูลยาในทางการแพทย์
จึงมีแนวความคิดที่จะนำเปลือกทุเรียนมาขึ้นรูปทำเป็นฟิล์มบรรจุเครื่องปรุงอาหาร เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกขนาดเล็กที่ยากกำจัด เพราะไม่มีใครสนใจนำไปรีไซเคิล ปรากฏว่า สามารถเก็บเครื่องปรุงอาหาร ซองไม่บวม และคนยังสามารถบริโภคได้ ไม่กลายเป็นขยะสร้างปัญหาให้กับชุมชน
นายเฉลิมพร เผยถึงขั้นตอนนำเปลือกทุเรียนมาทำซองพลาสติกขนาดเล็กเพื่อบรรจุอาหาร...เริ่มจากนำเปลือกทุเรียนส่วนชั้นในที่เป็นสีขาวมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปอบให้แห้ง จากนั้นใช้กรดไฮโดรคลอริกทำละลาย 8 วัน เปลือกทุเรียนจะตกตะกอน นำไปทำให้แห้งกลายเป็นผง
ถึงขั้นตอนนี้แล้วหากนำไปขึ้นรูป ฟิล์มถุงพลาสติกชีวภาพที่ได้จะขาดง่าย จึงต้องนำสารแทนนินที่สกัดได้จากเปลือกมังคุดและกรีเซอรอลสำหรับอาหารมาผสมให้เข้ากัน จากนั้นเทลงเพลท ทำเป็นแผ่นบางๆจะได้แผ่นฟิล์ม แล้วนำมาทำเป็นถุงพลาสติกขนาดเล็กบรรจุเครื่องปรุงอาหาร
สามารถบรรจุน้ำตาลทราย น้ำมัน พริกป่น กาแฟ ชา ครีมเทียม ฯลฯ ได้นานถึง 2 ปี โดยที่กลิ่น สี รสของวัตถุดิบที่อยู่ในซองพลาสติกไม่เปลี่ยน เนื้อฟิล์มคงเดิม แต่ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้บรรจุน้ำส้มสายชู เนื่องจากเนื้อฟิล์มจะพองตัว และสีน้ำส้มสายชูมีความขุ่น
และจากนั้นนำไปทดสอบการละลายในน้ำ โดยการแช่ในน้ำ ณ อุณหภูมิห้อง ใช้เวลา 3-5 วัน ฟิล์มจะย่อยละลายไปกับน้ำ แต่ถ้าแช่ในน้ำอุ่นฟิล์มจะพองตัวในวันแรก และถ้าแช่ในน้ำร้อนซองจะละลายน้ำภายใน 15 วินาที.
ข้อมูลจาก Thairath Online